คุก 18 ปี 24 เดือน อดีตผอ.-รองผอ. สามเสนวิทยาลัย เรียกแป๊ะเจี๊ยะเข้ากระเป๋าตัวเอง
ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลางสั่งจำคุก อดีต ผอ.-รอง ผอ. สามเสนวิทยาลัย เรียกแป๊ะเจี๊ยะ เข้ากระเป๋าตัวเองคนละ 18 ปี 24 เดือน ใช้ชำระเงินตกเป็นของแผ่นดิน 7 แสนบาท
เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ถนนเลียบรางรถไฟ ศาลกลางอ่านคำพิพากษา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ฟ้องนายวิโรฒ สำรวล อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลย ในกรณีร่วมกันกระทำความผิดด้วยการเรียกรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียนโดยไม่นำเข้าระบบการเงิน เพื่อเป็นรายได้ของโรงเรียน และร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคไปโดยทุจริต คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า ในระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2560 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัย และจำเลยที่ 2 รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัยร่วมกันกระทำความผิดด้วยการเรียกรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 6 ราย โดยไม่นำเข้าระบบการเงินเพื่อเป็นรายได้ของโรงเรียน โดยร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคไป เป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริต และยังร่วมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจ ให้เจ้าหน้าที่การเงินเเละบัญชีของโรงเรียน กรอกข้อความลงในเอกสารใบเสร็จรับเงิน ซึ่งไม่ตรงต่อความจริงอันเป็นการกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 148 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (5) ประกอบมาตรา 86, 90, 91 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฯ และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 มาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (4) ประกอบมาตรา 86 มาตรา 90 และมาตรา 91 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 และขอให้ริบทรัพย์สินหรือประโยซน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในความผิดฐานร่วมกันเบียดบังเงินบริจาคนั้น โจทก์มีผู้ปกครอง 6 ราย ให้การยืนยันว่า จำเลยที่ 1, 2 ร่วมกันรับเงินบริจาคที่ประสงค์จะมอบให้โรงเรียนมัธยมศึกษาสามเสนวิทยาลัยเพื่อให้บุตรหลานของตนได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษาในโรงเรียน ประเภทเงื่อนไขพิเศษ แต่กลับไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินให้ ซึ่งจำนวนเงินที่ผู้ปกครองกล่าวอ้างนั้นก็สอดคล้องกับหลักฐานการถอนเงินจากบัญชีธนาคารและต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1, 2 มาก่อน ที่จำเลยที่ 1, 2 นำสืบว่า เงินที่ได้รับมานั้น ได้นำไปมอบให้คณะกรรมการภาคีเครือข่ายการรับนักเรียนและการระดมทรัพยากรเพื่อมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่จำเลยที่ 2 ทำการแต่งตั้งนั้น แต่การจัดตั้งคณะกรรมการภาคีเครือข่ายดังกล่าว ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางในการปฏิบัติการระดมทรัพยากรของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกทั้งการรับมอบเงินโดยคณะกรรมการดังกล่าวต้องปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2551 และระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยการบริหารจัดเก็บเงินรายได้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2551 แต่คณะกรรมการดังกล่าวกลับทำผิดระเบียบทั้งหมด เนื่องจากเมื่อรับมอบเงินบริจาคมา ก็ไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินให้และไม่นำเงินบริจาคไปเข้าบัญชีเงินฝากของโรงเรียนในทันที แต่นำเงินไปเก็บไว้ในตู้เซฟที่อยู่ในห้องทำงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งไมใช่ตู้เซฟของทางราซการ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีหน้าที่รับเงินบริจาคไม่ใช่กรรมการเก็บรักษาเงินและตรวจนับเงินที่โรงเรียนแต่งตั้งขึ้นเงินที่เก็บไว้ในตู้เซฟตามระเบียบต้องเก็บไว้ได้ ไม่เกินวันละ 3 หมื่นบาท และเก็บไว้ในตู้เซฟได้ไม่เกิน 3 วันแต่กลับเก็บเงินไว้มากกว่า 3 วัน ไม่มีการตรวจนับของเงินบริจาคที่ได้รับมาในทันทีเพื่อนำเข้าระบบบัญชีของโรงเรียนเพื่อลงทะเบียนคุมรายรับเงินได้สถานศึกษา และยังเก็บเงินไว้เป็นจำนวนมากถึงหลักล้าน โดยไม่สามารถตรวจสอบยอดเงินที่แน่นอนได้ ดังนั้นการแต่งตั้งคณะกรรมการภาคีเครือข่ายดังกล่าวจึงเป็นการแต่งตั้งที่ไม่ชอบและไม่มีอำนาจในการระดมทรัพยากรเพื่อเก็บรักษาเงินไว้แทนโรงเรียนได้ และยังพบพิรุธว่า ระหว่างที่มีการเก็บเงินบริจาคไว้นั้น ปรากฏว่ามีคลิปวิดีโอที่ตัวแทนผู้ปกครองแอบบันทึกไว้ขณะที่มีการส่งมอบเงินบริจาคให้แก่จำเลยที่ 1, 2 เผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน หลังจากจำเลยที่ 1 แถลงข่าวแล้ว จำเลยทั้งสามจึงรีบตามเจ้าหน้าที่การเงินมาออกใบเสร็จรับเงินย้อนหลังให้และในใบเสร็จไม่มีการระบุชื่อผู้บริจาค ซึ่งไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้แล้วรีบนำเงินบริจาคเข้าระบบบัญชีเงินฝากของโรงเรียน เป็นการกระทำเพื่อปกปิดความผิดของตน และความผิดสำเร็จลงแล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1, 2 จึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจหรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของโรงเรียน กรอกข้อความลงในเอกสารใบเสร็จรับเงินอันเป็นเท็จและฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารอันเป็นเท็จและมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการออกใบเสร็จรับเงิน ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ร่วมลงลายมือชื่อ และจำเลยที่ 3 ก็ไม่มีหน้าที่โดยตรงและไม่มีหน้าที่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการออกใบเสร็จรับเงิน และการข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้น การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันให้เจ้าหน้าที่การเงินกรอกข้อความในใบเสร็จรับเงิน มิใช่การมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้บังคับข่มขืนใจเจ้าหน้าที่การเงิน เป็นการกระทำโดยสมัครใจเอง การกระทำของจำเลยที่ 1, 2 จึงไม่เป็นความผิดตามข้อหาดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย พิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1, 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1, 2 กระทงละ 5 ปี รวม 6 กระทง เป็นจำคุกคนละ 30 ปี ทางนำสืบและคำรับของจำเลยที่ 1, 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1, 2 กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกจำเลยที่ 1, 2 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 6 กระทง คงจำคุกคนละ 18 ปี 24 เดือน ให้จำเลยที่ 1, 2 ร่วมกันชำระเงินหรือแทนกันชำระเงินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เป็นเงิน 7 แสนบาท โดยให้ริบเงินจำนวนดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ภายหลังฟังคำพิพากษาจำเลย 1, 2 ยื่นคำร้องขอประกันตัว ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง ส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะตกภายใน 1-3 วัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณา จำนวน 7 นัด รวมระยะเวลานับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 6 มิ.ย.2566) ถึงวันอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 10 เดือน 18 วัน… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/local/news_4542839 |